จากประสบการณ์หลายปีที่ผ่านมาของนายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้เข้าร่วมคอร์สสุขภาพที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์นั้น คุณหมอพบว่าแรงบันดาลใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อปฏิวัติชีวิตพิชิตโรค ถึงแม้ว่าแรงบันดาลใจจะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่ก็มีเคล็ดวิธีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี ซึ่งคุณหมอได้รวบรวมวิธีต่างๆไว้ดังนี้
- วิธีที่ 1
ให้เหตุผลกับตัวเองในการตื่นนอนตอนเช้า แนวคิดนี้มาจากชีวิตจริงของผู้หญิงในจังหวัดโอกินาวาประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการขนานนามว่ามีอายุขัยยืนยาวที่สุดในโลก ซึ่งพวกเขาจะมีคำพูดติดปากว่า “อิคิไก” ซึ่งมีความหมายว่า “ทำไมเราถึงตื่นนอน” โดยคำพูดนี้จะเป็นตัวสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขาในทุกๆเช้า เนื่องจากพวกเขาให้ความสำคัญกับคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่ สำหรับคุณค่าก็หมายถึงว่าเราจะใช้เวลาของเราอย่างไรให้เกิดคุณค่าสูงสุดทั้งกับตนเอง และคนรอบข้าง ส่วนความหมายของการมีชีวิตอยู่นั้นก็หมายถึงว่า เรารู้หรือไม่ว่าเราเกิดมาทำไม เราควรทำอะไร หรือเราจะไปไหนหลังจากหมดลมหายใจ เป็นต้น เคยมีคนไข้ของคุณหมอคนหนึ่งป่วยด้วยโรคเบาหวานและมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย ซึ่งภายหลังจากที่มาเข้าคอร์สฝึกอบรมสุขภาพกับคุณหมอแล้ว เขาก็เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และออกกำลังกาย โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องหยุดรับประทานยารักษาเบาหวานให้ได้เพื่อป้องกันอาการสมองเสื่อม (Dementia) รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่นๆอันเนื่องมาจากโรคเบาหวาน สำหรับเคสนี้คนไข้มีปัญหากับการออกกำลังกาย เขาเล่าว่าที่ผ่านมาเขามีข้ออ้างให้กับการออกกำลังกายอยู่ตลอดเวลาทำให้ไม่ได้เริ่มสักที แต่หลังจากที่ได้มีโอกาสเข้าคอร์สกับคุณหมอแล้วความคิดและแรงบันดาลใจก็เปลี่ยนไป อยากมีอายุยืนยังไม่อยากตาย อยากใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับลูกหลาน ดังนั้นคนไข้คนนี้จึงเริ่มต้นใหม่เพราะรู้แล้วว่าความต้องการและแรงบันดาลใจของตนเองในการตื่นนอนขึ้นมาในทุกๆเช้าเพื่ออะไร ผลที่ตามมาก็คือสามารถที่จะเอาชนะใจตัวเองได้ และบังคับตัวเองให้ลุกขึ้นจากเตียงในทุกๆเช้าเพื่อไปออกกำลังกายได้ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็มีหลักฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือสนับสนุนว่า คนที่มีเป้าหมายชัดเจนในการดำเนินชีวิตพบว่ามีความสัมพันธ์กับการมีสุขภาพดี นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากงานวิจัยสนับสนุนว่า คนที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีเป้าหมายที่ชัดเจนมีความเสี่ยงในการที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคอัมพาตลดลง และยังสามารถที่จะลดอัตราการเสียชีวิตในผู้สูงอายุลงได้อีกด้วย ดังนั้นการบอกกับตัวเองในทุกๆเช้าถึงเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องตื่นขึ้นมาเพื่อตั้งใจทำเป้าหมายอะไรสักอย่างให้สำเร็จลุล่วงไปได้นั้นเป็นเรื่องไม่ยากและเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีในการสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง
- วิธีที่ 2
การมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเอง เช่น การมีเพื่อนที่มีเป้าหมายเดียวกัน หรือความชอบความสนใจในเรื่องที่คล้ายกัน เพื่อการทำกิจกรรมทางสุขภาพต่างๆร่วมกัน การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและการมีความมุ่งมั่นตั้งใจเดียวกันจะทำให้เรามีแรงบันดาลใจมากขึ้นในการที่จะเอาชนะหรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จลุล่วงได้โดยง่าย
- วิธีที่ 3
การสร้างเงื่อนไขให้กับสิ่งที่เป็นเป้าหมาย ใช้วิธีการสร้างเงื่อนไขที่ต่อรองไม่ได้ให้กับเป้าหมายของเรา เช่น ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายมากกว่าการแปรงฟัน ดังนั้นถ้าตื่นนอนขึ้นมาแล้วยังไม่ได้ออกกำลังกาย ก็หมายความว่ายังไม่สามารถแปรงฟันได้ ซึ่งถ้าไม่สามารถบรรลุเงื่อนไขนี้ได้ก็จะทำให้ไม่สามารถเริ่มกิจวัตรประจำวันอื่นๆได้ เป็นต้น
- วิธีที่4
การบริหารจัดการเวลาใหม่ พยายามจัดสรรเวลาโดยให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นหลัก แทนที่จะให้เวลากับผู้อื่นหรือเรื่องงานมากจนเกินไป ตัวอย่างเช่น การให้เวลากับตัวเองในการออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง หรือ 3-4 ชั่วโมงสำหรับผู้ที่เกษียณแล้ว
- วิธีที่5
การแฝงเป้าหมายในการออกกำลังกายไว้กับกิจกรรมที่เราชอบหรือสนใจ ยกตัวอย่างเช่น การทำให้การออกกำลังกายมีความสนุกมากขึ้นโดยรวมกิจกรรมเหล่านั้นเข้ากับสิ่งที่เราชอบทำ เช่น การเต้น การปั่นจักรยาน เป็นต้น แต่ถ้าหากเมื่อใดก็ตามที่เบื่อกิจกรรมเเดิมๆที่ทำอยู่แล้ว ก็ให้พยายามหากิจกรรมใหม่ๆทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่วงว่างจากความเบื่อหน่าย การลองทำกิจกรรมใหม่ๆที่สร้างสรรค์สามารถช่วยดึงความสนใจของเรากลับมาอีกครั้งได้
- วิธีที่6
บิดความคิดชีวิตเปลี่ยน พยายามเปลี่ยนทัศนคติและความคิดเสียใหม่ โดยเปลี่ยนจากการเป็นผู้ฟังหรือผู้ตามมาเป็นผู้นำหรือริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ เช่น หาวิธีการเปลี่ยนแปลงตนเองจากคนขี้กลัวหวาดระแวงต่อสิ่งต่างๆมาเป็นคนที่กล้าเผชิญกับปัญหาและพร้อมที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถบิดความคิดของเราได้ แรงบันดาลใจจะถูกสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ.
- วิธีที่7
พยายามออกกำลังกายให้เหนื่อยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในช่วงแรกพยายามออกกำลังกายให้ได้มากที่สุดจนรู้สึกเหนื่อย อย่างน้อยก็ให้รู้สึกเหนื่อยจนไม่อยากที่จะทำกิจกรรมอย่างอื่นแล้ว โดยในช่วงนี้เองร่างกายจะได้ผ่อนคลายและปลดปล่อยฮอร์โมนเอนเดอร์ฟินซึ่งทำให้เรารู้สึกดีออกมา พยายามจดจำความรู้สึกนี้เอาไว้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับการออกกำลังกายในครั้งถัดไป
- วิธีที่8
สร้างสถานการณ์ให้ร่างกายโหยหาความสุขจากการออกกำลังกาย มีช่วงหยุดพักให้ร่างกายได้เรียนรู้ถึงความรู้สึกแย่จากการหยุดออกกำลังกายหลายวัน โดยให้เก็บความรู้สึกนี้เอาไว้ใช้บังคับตัวเองในเวลาที่ร่างกายรู้สึกขี้เกียจกับการออกกำลังกาย
- วิธีที่9
สร้างจินตนาการ เพื่อเป้าหมายที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น อาจใช้วิธีการตั้งเป้าหมายด้วยการจินตนาการถึงบุคลิกภาพหรือความมีสเน่ห์ดึงดูดที่จะเกิดขึ้นกับเราหากเราทำตามเป้าหมายที่วางไว้สำเร็จ หรืออาจใช้วิธีการนำบุคคลในดวงใจมาเป็นต้นแบบว่าวันนึงเราจะเป็นแบบเค้าให้ได้ เป็นต้น
- วิธีที่10
ลองมองหาหนังสือดีๆสักเล่มหรือค้นคว้าเพิ่มเติม พยายามอ่านหนังสือ หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเวปไซต์เกี่ยวกับสุขภาพให้มากขึ้น ในต่างประเทศพบว่าหลายคนประสบความสำเร็จด้วยวิธีนี้
- วิธีที่11
จดบันทึกและแชร์เรื่องราวออกไปสู่ผู้อื่น จดบันทึกสถิติทางสุขภาพเพื่อเป็นการยืนยันถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการออกกำลังกาย อาจใช้วิธีการถ่ายภาพขณะทำกิจกรรมต่างๆ แชร์ผ่านเฟสบุ๊คหรืออินสตาแกรม สำหรับคนที่รักการเขียนอาจจะเขียนบล็อกหรือบทความเกี่ยวกับการออกกำลังกาย หรือการดูแลสุขภาพก็ได้เพื่อแบ่งปันเรื่องราวดีๆให้กับผู้อื่น
- วิธีที่12
สุขภาพคือการลงทุน อาจซื้อคอร์สฟิตเนส หรือสมัครคอร์สดูแลสุขภาพเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต เป็นต้น
- วิธีที่13
จ้างผู้เชี่ยวชาญส่วนตัว อาจจะจ้างผู้เชี่ยวชาญมาคอยดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เช่น การหาเทรนเนอร์ส่วนตัวเพื่อสร้างแรงกระตุ้นและกำลังใจ อย่างน้อยเราจะได้ไม่เสียเงินไปกับสิ่งที่เราไม่ได้ใช้บริการ
- วิธีที่14
เปิดรับพลังบวกจากผู้อื่น พยายามซึมซับแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจจากคนรอบตัว รวมถึงการรับฟังความสำเร็จของผู้อื่นอยู่เสมอ
- วิธีที่15
สำรวจจานอาหารก่อนรับประทาน ลองสำรวจจานอาหารของเราทุกครั้งก่อนรับประทานว่ามีส่วนประกอบครึ่งนึงเป็นผักและผลไม้หรือไม่ รวมถึงควรจะมีพวกธัญพืชไม่ขัดสีและโปรตีนจากพืชด้วย
- วิธีที่16
หาเพื่อนใหม่เพื่อเปิดรับแรงบันดาลใจจากผู้อื่น ลองสมัครเข้ากลุ่มเว็บบอร์ดหรือกลุ่มเกี่ยวกับการออกกำลังกาย สุขภาพ หรืออาหาร เป็นต้น
- วิธีที่17
อย่าลืมให้รางวัลกับความสำเร็จ ให้รางวัลตัวเองกับทุกๆก้าวของความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น ให้รางวัลตัวเองภายหลังจากออกกำลังกายมาทั้งสัปดาห์ หรือเมื่อเห็นผลลัพธ์จากเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้
- วิธีที่18
เตือนสติตัวเองด้วยเสื้อผ้าไซส์เล็ก การแกล้งใส่เสื้อผ้าที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการช่วยเตือนสติและสร้างแรงกระตุ้นให้กับตัวเองได้
- วิธีที่19
สร้างแรงจูงใจด้วยการช้อปปิ้ง ตัวอย่างเช่น เลือกซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ดูดีและมีราคาแพง
- วิธีที่20
หาเวลาพักผ่อนกายและใจหลังจากเจอเรื่องเครียด พยายามหากิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพเพื่อพักผ่อนกายและใจ เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ฝึกโยคะ หรือรำไท้เก๊ก เป็นต้น
- วิธีที่21
จัดระเบียบตารางชีวิตให้ตัวเอง ควรตั้งเวลาสำหรับการทำกิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพให้ตรงกับเวลาส่วนตัว และควรทำกิจกรรมดังกล่าวในช่วงเวลาที่มีความสุข
- วิธีที่22
ขยับวันละนิด จิตแจ่มใส ตัวอย่างเช่น ออกกำลังกายในขณะดูทีวีอย่างน้อยก็ดีกว่าการนั่งดูทีวีเฉย ๆ
- วิธีที่23
อย่าลืมถ่าย Before & After ควรถ่ายภาพก่อนและหลังเอาไว้เปรียบเทียบกันเพื่อดูว่าเราบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
- วิธีที่24
ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี พยายามทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านของการดูแลสุขภาพ และการออกกำลังกาย ซึ่งเทคนิคนี้เรียกว่า "การสอนเพื่อเรียนรู้" เพราะเราจะสามารถสอนผู้อื่นได้ก็ต่อเมื่อเราได้ทำสิ่งนั้นสำเร็จแล้ว
- วิธีที่25
พาตัวเองเข้าสู่สนามวิ่งมาราธอน ปัจจุบันหลายสถานที่นิยมจัดกิจกรรมวิ่งมาราธอน การพาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมก็ถือป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีเพื่อการฝึกซ้อมร่างกาย
- วิธีที่26
เตือนตัวเองในทุกที่ อาจใช้วิธีการติดคำขวัญ หรือคติพจน์ในหลายๆจุดที่สามารถมองเห็นได้ง่าย เพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงเป้าหมายที่จะต้องทำให้สำเร็จ
- วิธีที่27
พยายามใช้เวลาว่างกับการอ่านหนังสือ ควรซื้อหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ หรือการออกกำลังกายมาอ่านเมื่อมีเวลาว่างเพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจ
- วิธีที่28
หมั่นให้กำลังใจตัวเองเสมอ เมื่อใดก็ตามที่ล้มเหลว อย่าโทษตัวเอง ควรพูดให้กำลังใจตัวเองแทนที่จะโทษตัวเอง และพยายามทำความเข้าใจกับความผิดพลาดแล้วเริ่มต้นใหม่
- วิธีที่29
ชั่งน้ำหนักสัปดาห์ละครั้ง ใช้น้ำหนักเป็นตัวช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย
- วิธีที่30
ชื่นชมตัวเองอย่างมีเหตุผล ตัวอย่างเช่น เมื่อออกกำลังกายแล้วเห็นความเปลี่ยนแปลงก็ให้ชื่นชมตัวเอง และพยายามจดจำความรู้สึกที่ดีเอาไว้เพื่อให้กำลังใจตัวเองเวลาขี้เกียจ
- วิธีที่31
ชาร์จพลังใหม่อีกครั้ง เมื่อใดก็ตามที่หมดกำลังใจ พยายามหาวิธีออกกำลังกายแบบหนักๆเพื่อให้อะดรีนารีนหลั่ง หลังจากนั้นคุณก็จะรู้สึกเหมือนกับการได้เติมพลังใหม่อีกครั้ง
- วิธีที่32
สร้างเงื่อนไขเพื่อลงโทษตัวเองบ้าง เมื่อความพยายามล้มเหลว อาจสร้างเงื่อนไขเพื่อลงโทษตัวเองด้วยสิ่งที่คุณไม่ชอบ หรือไม่อยากทำ
- วิธีที่33
สร้างความมั่นคงให้จิตใจ ฝึกการทำสมาธิ หรือพยายามกำหนดจิตของตัวเองให้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้แรงบันดาลใจย้อนกลับสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง
- วิธีที่34
หนีห่างอุปกรณ์สื่อสารและอิเล็คทรอนิกส์ทุกชนิด พยายามใช้เวลากับอุปกรณ์เหล่านี้ให้น้อยที่สุด เพื่อที่จะได้ใช้เวลากับการออกกำลังกายให้ได้มากที่สุด
- วิธีที่35
หากิจกรรมใหม่ๆทำอยู่เสมอ เมื่อใดก็ตามที่เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับกิจกรรมเดิมๆ พยายามลองหากิจกรรมใหม่ๆทำเพื่อสร้างแรงจูงใจและท้าทายตัวเอง
- วิธีที่36
ใกล้ตัว ใกล้ใจ พยายามอยู่ใกล้คนที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เราอยู่เสมอ และพยายามอยู่ห่างคนที่มักทำลายกำลังใจของเรา
- วิธีที่37
สร้างเงื่อนไขเพื่อลบคำสบประมาท ตัวอย่างเช่น หากมีใครบ่นเรื่องน้ำหนักตัวของเรา ก็ให้ลองท้าทายเค้าด้วยเงื่อนไขที่ว่า ถ้าเราลดน้ำหนักได้ เค้าจะต้องจ่ายให้เรากิโลกรัมละเท่าไหร่ เป็นต้น
- วิธีที่38
เริ่มน้อยๆแต่สม่ำเสมอ พยายามอย่าโลภมากหรือหักโหมมากจนเกินไปในช่วงแรก ให้เริ่มจากน้อยๆก่อนแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่ให้มีความสม่ำเสมอแล้วค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง
- วิธีที่39
สลับขั้วจากลบเป็นบวก พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองจากคนคิดลบเป็นคนคิดบวก ภาคภูมิใจและขอบคุณในสิ่งที่เรามี อยู่กับปัจจุบันแล้วบอกกับตัวเองว่าเราโชคดีแค่ไหน
- วิธีที่40
ท้าทายตัวเอง พยายามสร้างแรงบันดาลใจที่น่าตื่นเต้นด้วยการท้าทายตัวเองให้สร้างสถิติใหม่อยู่เสมอ
- วิธีที่41
ยิ่งใกล้ยิ่งดี ตัวอย่างเช่น พยายามจัดวางอุปกรณ์ออกกำลังกายต่างๆให้อยู่ในจุดที่สามารถมองเห็นและใช้งานได้ง่ายอยู่เสมอ
การสร้างแรงบันดาลใจแบบกลุ่ม

การสร้างแรงบันดาลแบบกลุ่มนอกจากที่เราจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเองแล้ว เรายังสามารถรับแรงบันดาลใจดีๆจากสมาชิกในกลุ่มได้อีกด้วย ซึ่งเท่ากับว่าเราได้แรงบันดาลใจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า โดยทั่วไปแล้วการสร้างแรงบันดาลใจแบบกลุ่มสามารถที่จะทำได้ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ก่อนที่จะเริ่มสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น เราควรจะมีแรงบันดาลใจของตัวเราเองก่อน พยายามสร้างแรงบันดาลใจ ความกระตือรือร้น และแบ่งปันเรื่องราวดีๆสิ่งดีๆให้กับสมาชิกภายในกลุ่มได้รับรู้ รวมถึงต้องมีความเชื่อมั่นศรัทธาสมาชิกของกลุ่ม เพราะเมื่อใดก็ตามที่ขาดความเชื่อมั่นศรัทธาซึ่งกันและกันแล้วการสร้างแรงบันดาลใจของกลุ่มจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้
- การสร้างแรงบันดาลใจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากขาดการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งก็เหมือนกับการสร้างทีมในเกมกีฬาไม่ใช่แค่ว่าผู้เล่นซึ่งป็นเป็นสมาชิกของทีมจะมีบทบาทแค่การเล่นในสนามแข่งขันเท่านั้น แต่ทุกคนจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันในการฝึกซ้อมเพิ่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายสุดท้ายคือชัยชนะ
- การสร้างแรงบันดาลใจเป็นสิ่งที่ต้องการความต่อเนื่อง สมาชิกของกลุ่มควรมีแผนที่ชัดเจนในการพบปะ พูดคุย และแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆร่วมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อการให้และรับแรงบันดาลใจซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง เพราะแรงบันดาลใจเป็นเรื่องของปัจจุบันซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในอนาคตได้
- การสร้างแรงบันดาลใจจะเพิ่มขึ้นหากสมาชิกในกลุ่มเล็งเห็นคุณค่าของกันและกัน สมาชิกจะพยายามทุ่มเทเพื่อให้เป็นที่ยอมรับเพื่อสร้างวัฒนธรรมแห่งการยอมรับซึ่งกันและกัน
- สมาชิกในกลุ่มสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างแรงบันดาลใจซึ่งกันและกันได้ด้วยการตอบคำถาม แลกเปลี่ยนหรือแสดงความคิดเห็นระหว่างกันเพื่อสร้างไอเดียหรือแรงบันดาลใจใหม่ๆให้กับกลุ่ม
- ในการติดตามพัฒนาการในการสร้างแรงบันดาลใจของกลุ่มนั้น ควรจะมีการกำหนด ตัวชี้วัดที่สามารถวัดผลได้ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ความผิดพลาดและแชร์ความสำเร็จร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ
- ควรเริ่มจากการตั้งเป้าหมายให้อยู่ในระดับที่เราสามารถบรรลุผลสำเร็จได้จริงก่อน เพราะเมื่อเราสามารถที่จะทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้วสิ่งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญเพื่อการบรรลุผลสำเร็จในระดับต่อไป ในทางกลับกันหากเราตั้งเป้าหมายไว้สูงจนเกินไปเมื่อไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ได้ก็จะเป็นตัวบั่นทอนกำลังใจทำให้ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้
- โดยปกติแล้วเราทุกคนมีแรงบันดาลใจ ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในตัวเอง พยายามหามันให้เจอ แล้วใช้เป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ
- ความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มถือเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่ง และยิ่งเป็นกลุ่มเล็กด้วยแล้วดวามรู้สึกในการการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มก็จะมากขึ้น
- กิจกรรมทั่วๆไปก็สามารถที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มได้ ส่วนกิจกรรมพิเศษอื่นๆควรจัดขึ้นเมื่อสมาชิกในกลุ่มมารวมตัวกันเท่านั้น
- ผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับสมาชิกในกลุ่มได้ ก็จะสามารถนำพาสมาชิกในกลุ่มไปสู่ความสำเร็จได้
- อาจประยุกต์ใช้แรงจูงใจจากภายนอก เช่น เงิน,การเป็นที่ยอมรับ, รางวัล หรือสิ่งตอบแทนในรูปแบบอื่นๆ เป็นต้น ส่วนแรงจูงใจจากภายในเช่น ความสุข, ความภาคภูมิใจ, คุณงาม ความดี, เป้าหมายส่วนตัว หรือการมีสุขภาพดี เป็นต้น